Loading...

Menu

Menu

ที่ท่องเที่ยว

เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง!  พุ่ง 32,000 คัน- เช่ารถเชียงใหม่ ท่องเที่ยว

เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง! พุ่ง 32,000 คัน

ในปี 2562 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีความคึกคักไม่น้อย โดยมีรถรุ่นใหม่ๆ เปิดตัวออกหลายรุ่นด้วยกัน เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่มีจำหน่ายแล้วถึง 10 รุ่น จนเกิดกระแสความสนใจและมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ายอดขายแตะ 32,000 คัน นับว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี

รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าราว 5 ล้านคัน แม้ว่ามีสัดส่วนเพียง 0.4% ของรถยนต์ทั้งหมด และมียอดขายเพียง 2.5% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 61% ต่อปี จากปี 2555 ที่มีเพียง 1 แสนคัน เพิ่มเป็น 2 ล้านคันในปี 2561 ซึ่งปัจจุบันจีน และสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุด คิดเป็น 55% และ 18% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

โดยปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือเรื่องราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลง สมรรถนะและราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง หรือรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combusion Engine: ICE) นโยบายส่งเสริมของภาครัฐ รวมถึงกระแสการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าและระยะเวลาในการชาร์จไฟ เป็นต้น

ซึ่งคาดการณ์ว่า ใน 20 ปีข้างหน้า การเติบโตของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง 17%-26% ต่อปี ซึ่งภายในปี 2040 อาจจะมีรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกว่า 150-550 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วน 31%-55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด


คาดยอดขายในไทยพุ่ง 3.2 หมื่นคันในปี 2562
ขณะที่ในไทย รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากการที่ในปี 2562 มีการเปิดตัวออกสู่ตลาดมากขึ้นกว่าปีก่อน ด้วยระดับราคาที่เข้าถึงได้หลากหลายกลุ่ม จึงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคพอสมควร จากข้อมูลสถิติการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า กรมขนส่งทางบก (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562) ระบุว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) ในครึ่งเเรกของปี 2562 มากถึง 15,366 คัน คิดเป็น 75% ของยอดจดทะเบียนปี 2561 ที่ทั้งปีมี 20,344 คัน ส่วนยานยนต์แบบแบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวน 420 คัน สูงกว่ายอดจดทะเบียนใหม่ปี 2561 ที่มีอยู่ 325 คัน โดยมีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าแบบ HEV/PHEV สะสมจำนวน 137,871 คัน และแบบ BEV 1,768 คัน

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสทำยอดขายได้อย่างน้อย 18,400 คัน หรือขยายตัวกว่า 75% จากปีก่อน ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งหลัง จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ได้ทยอยเปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในปีนี้อยู่ที่ 32,000 คัน และหากว่ามีการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกจองแล้วของบางค่าย สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเปิดตัวใหม่หลังจากนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ก็อาจทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยปี 2562 สูงเกินกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นนี้ได้ 

ราคาที่ใกล้จะเอื้อมถึง
สำหรับเรื่องราคาและความคุ้มค่าต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อรถสักคัน ทั้งราคาจำหน่ายที่สูงหลายล้านบาท รวมถึงต้นทุนการถือครองในส่วนของค่าแบตเตอรี่ที่สูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันประเด็นนี้ก็คลี่คลายตามการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงส่วนสำคัญเกี่ยวกับต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าว่า ในส่วนแรกคือ ราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายระดับและเข้าถึงได้มากขึ้น โดยแตกต่างไปตามรูปแบบของตัวรถยนต์ ยี่ห้อ ระดับเทคโนโลยี และประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการผลิตในประเทศและเป็น กลุ่มที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ จะมีอัตราภาษีสรรพสามิตต่ำ เห็นได้ชัดในรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด ที่มีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยในระยะยาวอาจจะส่งผลให้รถยนต์ไฮบริดก้าวสู่การเป็นรถยนต์รุ่นมาตรฐานแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้านำเข้ามาจากประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบแบตเตอรี่ ไทยก็มีข้อตกลงการค้าเสรีและภาษีนำเข้า 0% เป็นต้นว่าจากประเทศจีน ซึ่งทำให้ตั้งราคาได้ถูกลงจนผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ส่วนที่สองคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างถือครองรถยนต์ไฟฟ้าก็มีแนวโน้มปรับลดลง โดยได้รับประโยชน์จากระยะประกันของค่ายรถในช่วง 8-10 ปีแรก ทำให้มีต้นทุนในการถือครองที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำกว่า ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ก็มีค่าบำรุงรักษาเฉลี่อต่อปีที่ต่ำกว่ารถยนต์ประเภทอื่นมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเลยระยะประกันไปแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ต้นทุนการถือครองปรับเพิ่มขึ้นไปอีกระดับ ถึงอย่างนั้นก็คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ราคาแบตเตอรี่จะปรับลดลงไปถึงกว่า 60% จากปัจจุบัน

เร่งเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จรองรับ
หนึ่งในข้อกังวลใจสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าคือ เรื่องความพร้อมของสถานีบริการชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ระบุว่าทั่วประเทศมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะประมาณ 340 แห่ง ถึงอย่างนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีแผนเพิ่มสถานีชาร์จอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่มีในปัจจุบัน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งเป้าเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า  62 แห่งบนถนนสายหลักทุก 100 กม. ทั่วประเทศ ภายในกลางปี 2563 ด้วยงบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท รวมถึงการติดตั้งและปรับปรุงระบบไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าตามครัวเรือนที่จำเป็น และเพิ่มขนาดหม้อแปลงไฟฟ้าให้รองรับการใช้งาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธ.ไทยพาณิชย์ (EIC) เผยถึงเทรนด์ที่บริษัทน้ำมันได้หันมาลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในระดับสากลและไทย ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ ลม เป็นต้น ธุรกิจแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ไปถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมลงทุนกับ Startup ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

โดยในไทยก็มีการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ทั้งการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่ อย่าง ปตท. ได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลัง แบตเตอรี่และไฮโดรเจน ตลอดจนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบที่สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ ซึ่งประจุไฟฟ้าได้มากกว่าปกติ 3 เท่า รวมถึงเปิดบริการสถานีชาร์จไฟฟ้า PTT EV Station แล้ว 14 แห่ง และพัฒนาเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบติดผนัง (EV Wall Charger) อีกด้วย

สำหรับ บางจาก ได้ลงทุนในเอน- เนเวท ธุรกิจสตาร์ตอัพด้านพลังงานของสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญเทคโนโลยีการผลิต ลิเธียมแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รองรับการชาร์จได้เร็วขึ้น 10 เท่า ซึ่งจะต่อยอดเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบ Quick Charge ให้รวดเร็วเทียบเท่ากับการเติมน้ำมัน

นอกจากนี้ คาลเท็กซ์ และซัสโก้ เริ่มติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าภายในปั๊มบางแห่ง ภายใต้ EA Anywhere ของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ขณะเดียวกันบริษัทในธุรกิจอื่นๆ เช่น ซีพี ออลล์ ก็ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 21 สาขา เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ ห้างโรบินสัน TCC Group ศูนย์บริการรถยนต์ A.C.T. และ Cockpit ที่ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อขยายการบริการ และรองรับการขยายตัวของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง